Close

 ประวัตินักบุญหลุยส์ มารีย์ กรีญอง เดอ มงฟอร์ต คณะภราดาเซนต์คาเบรียล

            ได้กำเนิดและดำเนินการสอนสืบเนื่องมา โดย นักบุญหลุยส์ มารีย์ กรีญอง เดอ มงฟอร์ต ได้สถาปนาขึ้นในปี ค.ศ. 1705 (พ.ศ. 2248) มีจุดหมายแรกเริ่มที่จะสอนให้เยาวชนอ่านออก เขียนได้คิดเลขเป็นและมีหลักศาสนา เป็นแนวทางให้ประพฤติตนเป็นคนดีนักบุญหลุยส์ มารีย์ กรีญอง เดอ มงฟอร์ต เป็นนักบุญผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งของประเทศฝรั่งเศส เกิดในครอบครัวคาทอลิก เมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1673 (พ.ศ. 2216) ที่เมืองมงฟอร์ตซูเมอร์ (Le Montfort Sur3Meu) ณ บ้านเลขที่ 15 ถนนลู เดอลา โซลเนรี (Rue de La Saulnerie) บิดาชื่อยีนบับติสต์ กรีญอง มารดาชื่อ ยีน โรแบรต์ กรีญอง เป็นชาวฝรั่งเศส เมื่อหลุยส์กรีญอง เติบโตขึ้น ได้ใช้พระนาม "มารีย์" ของแม่ พระเสริมชื่อเข้าไปด้วย เพราะท่านมีความศรัทธาต่อแม่พระมาก ต่อเมื่อได้รับศีลล้างบาปที่เมืองมงฟอร์ตจึงใช้นามเต็มว่า "หลุยส์ มารีย์ กรีญอง เดอ มงฟอร์ต" (หลุยส์ มารีย์ กรีญอง แห่งเมือง มงฟอร์ต) บิดาของท่านมีอาชีพทนายความ มีฐานะยากจน ท่านมีพี่น้องรวม 18 คน เป็นขาย 8 คน หญิง 10 คน พี่ชายของหลุยส์เสียชีวิตเมื่ออายุได้ 5 เดือน ดังนั้นหลุยส์จึงกลายเป็นบุตรคนโตของครอบครัวในวัยเด็กท่านใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านบัว-มาร์เกร์ (Bois-Mar-Quer) หลุยส์รักพ่อแม่และน้อย ๆ ทุกคนมาก ท่านช่วยมารดาทำงานสารพัด ท่านเป็นนักเรียนที่เอาจริงเอาจังกับการเรียน และสอบได้เป็นที่หนึ่งของชั้นเสมอเมื่อเรียนจบหลุยส์ได้เข้าเรียนในบ้านเณรเพื่อเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ หลังจากที่ท่านได้ศึกษาอยู่ในสามเณราลัยอยู่ 8 ปี ก็ได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1700 (พ.ศ.2243) ที่ไบสถ์แซงต์ซูลปีซ (St.Sulpice Seminary) ในกรุงปรารีสเมื่ออายุได้ 27 ปีพ่อหลุยส์ได้อุทิศชีวิตของท่านด้วยการเทศนาสั่งสอน ให้คนที่ประพฤติตนไม่ดี ได้กลับใจเป็นคนดี ทั้งยังช่วยเด็ก ๆ ที่ยากจน ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน การที่พ่อหลุยส์ทำงานอย่างหนัก โดยไม่คำนึงถึงสุขภาพของตนเอง จึงทำให้ท่านล้มป่วยลงหลายครั้ง จนในที่สุดท่านก็ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ.1716 (พ.ศ.2259) อายุของท่านในขณะนั้นเพียง 43 ปี 3 เดือนเท่านั้น

 

 ชีวิตของนักบุญหลุยส์

            เป็นชีวิตที่ถวายแด่พระเป็นเจ้าโดยสิ้นเชิง (God Alone) ความศรัทธาภักดีต่อแม่พระและพระเยซูเจ้า เข้าใจคุณค่าและความหมายของกางเขนที่เห็นได้เป็นรูปธรรม คือแสดงออกทางความคิด วาจา และการกระทำ ชีวิตของท่านเปี่ยมด้วย

·      ความรักพระ และซื่อสัตย์ต่อศาสนา (นอบน้อมต่อองค์กรพระศาสนจักร และผู้ใหญ่)

·      ชีวิตฝ่ายจิตที่สัมพันธ์กับพระและพระธรรมอย่างแน่นแฟ้น

·      ความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะฟื้นฟูบุคคชลที่พบปะให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งฝ่ายกาย จิตใจ สติปัญญาให้มีศักดิ์ศรี และได้รับความยุติธรรม

·      จิตสำนึกห่วงใจต่อสภาพแวดล้อม สภาพสังคม และความเป็นอยู่ของผู้ด้อยโอกาส

·      ความรักห่วงใยคนจน ผู้ถูกทอดทิ้ง คนป่วยเด็ก และเยาวชนที่ขาดการอบรมด้านศีลธรรมและวิชาการ

·      ความอดทนต่อความยากลำบาก และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค (กางเขน) ภารกิจที่อุทิศตนเป็นข้อพิสูจน์ถึงความรักต่อพระ และความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์

·      พรสวรรค์ ความสามารถพิเศษ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ที่จะใช้ให้เกิดผลต่อผู้อื่น

·      ด้วยคุณความดีที่พ่อหลุยส์ได้กระทำไว้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบุญราศรีในปี ค.ศ. 1888 (พ.ศ. 2431) โดยพระสันตปาปา เกรเกอรี่ที่ 16 และในเวลาต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) โดยพระสันตปาปา ปีโอที่ 12 ก่อนหน้าที่พ่อหลุยส์ มารีย์ จะถึงแก่มรณภาพ ท่านได้ตั้งคณะนักบวชชาย-หญิง ขึ้น 3 คณะ คือ 1. บาทหลวลคณะมงฟอร์ต (The commpany of Mary หรือ Montfort Fathers ทำหน้าที่เผยแพร่ความรักต่อพระเป็นเจ้า ความรักต่อพระแม่มารีย์ และความรักต่อเพื่อนมนุษย์โดยการเทศนาสั่งสอน อบรมให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม 2. ภราดาคณะเซนต์คาเบรียล (The Brothers of St.Gabriel) ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดี มีความรู้เด่น มีความเสียสละ ทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ขยายไปทุกทวีป 3. ภคินีแห่งพระปรีชาญาณ (The Sisters of Wisdom) คอยดูแลคนเจ็บและคนพิการ และทำหน้าที่สอนเด็ก ๆ และอภิบาลผู้เจ็บป่วยตามโรงพยาบาล คณะภราดาเซนต์คาเบรียล เป็นคณะเดียวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ด้านการศึกษา เมื่อ ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) โดยยึดมั่นในจิตตารมณ์นักบุญหลุยส์ มารีย์ ปัจจุบันคณะภราดาเซนต์คาเบรียลในประเทศไทย ดำเนินการอบรมสั่งสอนเยาวชนในโรงเรียนสามัญ 13 แห่ง โรงเรียนพาณิชย์ 2 แห่ง ศูนย์ฝึกอาชีพ 1 แห่ง และมหาวิทยาลัยอีก 1 แห่ง จิตตารมณ์ของคณะภราดาเซนต์คาเบรียลก็คือ การรับใช้พระเป็นเจ้าแต่องค์เดียว โดยการให้บริการแก่เพื่อนมนุษย์ เฉพาะอย่างยิ่งแก่คนยากจน และการเผยแพร่ความรัก และความศรัทธาต่อพระแม่มารีย์ ด้วยการสอนและเป็นแบบฉบับ

 

 อัครเทวดาคาเบรียล

ทรงเป็นเจ้าทรงสร้างเทวดาให้ประกอบด้วยจิตบริสุทธิ์เต็มไปด้วยแสงสว่างและความรักให้แวดล้อมพระบัลลังก์ของพระองค์ ยังได้ทรงโปรดประทานพระพรแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ความสวยงามและปรีชาญาณแก่เทวดาด้วย อัครเทวดาคาเบรียล นามหนึ่งในอัครสาวกทั้งสามที่จงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า ที่เราฉลองในวันที่ 29 กันยายนของทุก ๆ ปี นามของท่านมีความหมายว่า "ฤทธิ์กำลังของพระเป็นเจ้า" ท่านได้เอาชนะความเลวร้ายต่าง ๆ ด้วยความกล้าหาญ ท่านเป็นผู้นำข่าวประเสริฐไปแจ้งให้กับหญิงพรหมจารีคนหนึ่ง ชื่อ มารีย์อาให้ยอมรับการเป็นมารดาขององค์พระเยซูคริสต์ โดยอาศัยฤทธิ์อำนาจขององค์พระจิตเจ้า เพื่อกอบกู้ และนำความรอดมาสู่มนุษยชาติทั้งมวล และด้วยเหตุนี้เองท่านนักบุญหลุยส์มารีย์ กรีญอง เดอ มงฟอร์ต ผู้ก่อตั้งคณะเซนต์คาเบรียล จึงให้นามนี้เป็นนามของคณะภราดาเซนต์คาเบรียลเพื่อให้คำนึงถึงบทบาทหน้าที่สำคัญของการเป็นผู้นำข่าวของพระคริสต์เจ้า ไปประกาศแก่มวลมนุษย์ที่ยังขาดสิ่งที่ยึดเหนี่ยวใจ

 

  ภราดาคณะเซนต์คาเบรียลคือใคร ?

            คำว่า "บราเดอร์" หรือ "ภราดา" มาจากภาษาอังกฤษว่า "Brother" แปลว่า พี่ชาย หรือ น้องชาย เราถือว่าผู้ที่ถวายตัวเป็นผู้รับใช้พระเป็นเจ้าในพระศาสนจักรนั้น ต่างก็เป็นพี่น้องกันเปรียบเสมือนครอบครัวเดียวกันในทางศาสนา หรือ "ภราดา" คือนักบวชที่ได้ปฏิญาณตนต่อหน้าอธิการเจ้าคณะและพระศาสนาจักรที่เป็นตัวแทนของพระเป็นเจ้า จะถือความยากจน ความบริสุทธิ์ความนบนอบ สำหรับภราดาในคณะเซนต์คาเบรียล คือบุคคลที่ได้ปฏิญาณตน เพื่อ

1.          ดำเนินชีวิตตามอย่างท่านนักบุญหลุยส์ มารีย์ กรีญอง เดอ มงฟอร์ต ผู้สถาปนาคณะฯ ในการติดตามพระเยซูเจ้า

2.          รับใช้เพื่อนมนุษย์ รับใช้พระศาสนจักร รับใช้พระเจ้าโดยการให้การศึกษาแก่เยาวชนของชาติ เฉพาะอย่างยิ่งเด็กจน ๆ ที่ไม่มีใครเหลียวแลเด็กกำพร้า ฯลฯ

3.          ภราดาคณะเซนต์คาเบรียลจะไม่บวชเป็นพระสงฆ์เพราะการเป็นภราดาเป็นกระแสเรียกที่สมบูรณ์

 

 คณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย

ท่านนักบุญหลุยส์ มารีย์ กรีญอง เดอ มงฟอร์ต (Saint Louis-Marie Grignion de Montfort) ได้สถาปนา นักบวชคณะเซนต์คาเบรียลขึ้น ณ เมืองแซงต์ ลอรังต์ ชู แซฟร์ (St.Laurent-Sur-Sevre) มณฑลวังเดย์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2259 นักบวชในคณะนี้ได้เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2444 ภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ที่เดินทางจากประเทศฝรั่งเศสมาประเทศไทยในครั้งนี้มี 5 ท่านด้วยกัน คือ 1. เจษฎาธิการ มาร์ติน เดอ ตูรส์ 2. เจษฎาจารย์ อาแบล 3. เจษฎาจารย์ ออกูสต์ 4. เจษฎาจารย์ คาเบรียล เฟร์เรต์ตี 5. เจษฎาจารย์ ฟรังชัว ฮีแลร์ ทั้งนี้ เพื่อมาดำเนินงานการบริหารและการสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญกรุงเทพฯ ซึ่งท่านบาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ ได้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2428 และได้ยกโรงเรียนนี้ให้คณะเซนต์คาเบรียลเข้ามาดำเนินการต่อ คณะภราดาเซนต์คาเบรียลจึงได้เริ่มฝังรกรากในประเทศไทยตั้งแต่บัดนี้ การดำเนินงานการสอนในลักษณะทุ่มเทชีวิตจิตใจของคณะภราดาในโรงเรียนอัสสัมชัญทำให้ชาวไทยบัง เกิดความศรัทธาต่อวิธีการฝึกอบรมนักเรียนของคณะภราดาอย่างกว้างขวางได้มีการเรียกร้องให้สร้างโรงเรียนเพิ่มขึ้น ผู้มีจิตศรัทธาหลายท่านได้บริจาคที่ดินและให้การสนับสนุนแก่คณะภราดาทางด้านต่าง ๆ จึงมีการสร้างโรงเรียนขึ้นอีกหลายแห่งทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล (พ.ศ.2462) โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ.2475) โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา (พ.ศ.2485) โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา (พ.ศ.2491) เป็นต้น ภราดาที่ดำเนินงานในโรงเรียนดังกล่าวนี้ นอกจากจะเดินทางมาจากประเทศฝรั่งเศสและประเทศสเปนแล้ว ได้มีกุลบุตรชาวไทยอุทิศตนบวชเพื่อรับใช้พระศาสนาจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับ งานให้การศึกษาแก่เยาวชนไทยของคณะภราดาได้เจริญรุ่งเรือง จนเป็นที่ยอมรับของสังคมไทยเป็นอย่างสูง จนถึงปัจจุบันนี้คณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาถึง 17 สถาบัน รวมทั้งโรงเรียนอัสสัมชัญลำปางของเราด้วย

 

 นักบวชในคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย

นักบวชในคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย มีเฉพาะนักบวชผู้ชายเท่านั้น เรียกทั่วไปว่า "บราเดอร์" (Brother) บราเดอร์ทุกท่านมีศีลเป็นหลักในการดำเนินชีวิตที่สำคัญที่สุดอยู่ 3 ประการ ดังต่อไปนี้คือ

1.          ถือความยากจน (Poverty) คือ ไม่เป็นเจ้าของในทรัพย์สิน มีความประหยัดและมีความอดทนต่อความเป็นอยู่

2.          ถือศีลพรหมจรรย์ (Chastity) คือ รักษาความบริสุทธิ์ ไม่มีครอบครัว

3.          ถือความนบนอบ (Obedience) คือเชื่อฟังผู้ใหญ่ซึ่งถือเสมือนเป็นผู้แทนของพระเป็นเจ้าเป็นการมอบกายถวายชีวิตต่อพระเป็นเจ้า ไม่ย่อท้อต่อภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย สละตัวเองทำงานเพื่อมวลมนุษย์และพระเป็นเจ้า